กัมพูชาเตรียมจัด การประชุม JBC
คณะกรรมการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยในวันที่ 14 มิ.ย.นี้
เพื่อหาทางแก้ข้อพิพาทบริเวณชายแดน เมื่อวันพุธที่ 4 มิ.ย. 2568 นายชุม สุนรี โฆษกกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชายืนยันว่า กัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของไทย ในวันที่ 14 มิ.ย. 2568 นี้ ที่กรุงพนมเปญ เพื่อหารือเรื่องข้อพิพาทชายแดน นายชุมระบุว่า การประชุมดังกล่าว เป็นการสานต่อจากการพบปะกันระหว่างนาย ปรัก สุคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชา กับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมานายชุมกล่าวว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนตกลงกันที่จะเคารพบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชาเรื่องการสำรวจและกำหนดเขตแดน หรือ MoU 2000
และพวกเขาจะใช้กลไกทุกอย่างที่มี โดยเฉพาะผลักดันให้คณะกรรมการ JBC ประชุมร่วมกันโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อแก้ปัญหาชายแดน โดยมุ่งเน้นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาบอกอีกว่า ถึงแม้กัมพูชาจะมุ่งมั่นในการป้องกันบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของประเทศ แต่กัมพูชายังคงยืนหยัดที่จะเปลี่ยนชายแดนของพวกเขากับประเทศเพื่อนบ้าน ให้กลายเป็นเขตสันติ, มิตรภาพ, ความร่วมมือ และการพัฒนา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศเหล่านั้น “กัมพูชามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาชายแดนอย่างสันติ ผ่านกลไกทางเทคนิคและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ” นายชุมกล่าวทั้งนี้ คาดกันว่าเรื่องที่กัมพูชาพยายามผลักดันปัญหาพิพาทชายแดนเข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุม JBC ด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. สมเด็จฯ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่า การนำพื้นที่พิพาทปราสาทตาเมือนธม, ปราสาทตาเมือนโต๊ด, ปราสาทตาควาย และพื้นที่มอมเบ (Mom Bei) ขึ้นสู่ศาล ICJ เปรียบเหมือนกับการดับไฟ เพื่อไม่ให้ประเทศต่างๆ ต้องจัดการกับปัญหานี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดขณะที่ในวันที่ 4 มิ.ย. รัฐบาลไทยระบุว่า พวกเขาได้ร้องขอให้คณะกรรมการ JBC จัดการประชุมร่วมกัน และว่าถึงแม้กัมพูชาจะต้องการนำข้อพิพาทชายแดนขึ้นสู่ศาลโลก แต่รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาผ่านสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมาย, ข้อตกลง และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น MoU 2000 กับหลักฐานต่างๆ รวมถึงภาพถ่ายดาวเทียม รัฐบาลไทยบอกด้วยว่า พวกเขาพร้อมที่จะเจรจากับกัมพูชาผ่าน JBC, คณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) โดยรัฐบาลไทยมั่นใจว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถหาทางแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เพื่อความปลอดภัยกับสวัสดิภาพของประชาชนบริเวณชายแดน และการเป็นครอบครัวอาเซียนเช่นเดียวกัน aleramos